top of page

ปีใหม่อียิปต์โบราณ บทสวดภาวนาต่อรา-ฮอรัคตี้



เพจอุณรุทล้านเรื่องส่งท้ายเดือนสิงหาคม ด้วยเทศกาลมหามงคล ปีใหม่อียิปต์โบราณ บทสวดภาวนาต่อรา-ฮอรัคตี้

.

สวัสดีปีใหม่อียิปต์โบราณครับ ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจทราบอยู่แล้วว่าปฏิทินสากลที่ใช้ในปัจจุบันนี้เรียกว่าปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) ซึ่งเป็นปฏิทินที่กำหนดวันจากการโคจรของดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันว่าปฏิทินสุริยคตินั่นเอง ปฏิทินเกรกอเรียนในปัจจุบันสามารถสืบต้นตอได้ถึงปฏิทินของชาวอียิปต์โบราณ โดยเป็นการปรับปรุงปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar) ที่มีมาก่อน ซึ่งจูเลียส ซีซาร์ยืมปฏิทินสิบสองเดือนของชาวอียิปต์โบราณมาใช้แทนปฏิทินของจักรวรรดิโรมันดั้งเดิม

.

ตามความเข้าใจในปัจจุบัน ปฏิทินของชาวอียิปต์โบราณปีหนึ่งประกอบด้วย 12 เดือน เดือนละ 30 วัน ส่วนเศษ 5 วันที่เหลือถือเป็นช่วงเวลาพิเศษ เป็นรอยต่อของปีเก่ากับปีใหม่ โดยวันปีใหม่อาศัยการคำนวณที่อ้างอิงจากการปรากฏตัวเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกเวลารุ่งสางของดาวโจร (ดาวซิริอุส หรือตรงกับเทพีโซปเด็ต: Sopdet ตามคติอียิปต์โบราณ) ซึ่งตรงกับช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมในปัจจุบัน คู่กับปรากฏการณ์การไหลหลากของแม่น้ำไนล์ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

.

อย่างไรก็ดี การระบุว่าวันปีใหม่อียิปต์โบราณตรงกับวันใดในปฏิทินปัจจุบันมีความซับซ้อนมากด้วยปัจจัยหลายประการ ประการแรก แม้ในปัจจุบันดาวโจรจะปรากฏตัวเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกตอนต้นเดือนสิงหาคม แต่ในสมัยราชวงศ์แรก ๆ หรือเกือบห้าพันปีก่อน ดาวโจรปรากฏ ณ ตำแหน่งเดียวกันนี้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ประการที่สอง หลังจากการสร้างเขื่อนอัสวานแล้วเสร็จในปีค.ศ. 1970 ก็ไม่มีปรากฏการณ์น้ำหลากในพื้นที่ประเทศอียิปต์อีกเลย

.

ประการที่สาม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก คือการที่งานศึกษาเกี่ยวกับปฏิทินอียิปต์โบราณมักต้องอาศัยจารึกรายการวันสำคัญที่ปรากฏอยู่ตามผนังวิหารสำคัญต่าง ๆ ซึ่งต่างก็มาจากคนละยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ และไม่ได้ระบุรายละเอียดตรงกัน 100% เสมอไป โดยหลักฐานที่สมบูรณ์และมักได้รับการอ้างถึงบ่อยครั้งจนเกิดแพร่หลายในสังคมร่วมสมัยส่วนใหญ่มาจากสมัยปโตเลมีและโรมัน (323 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 395) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมหาวิหารเอ็ดฟู และเดนดารา

.

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากหลากหลายยุคสมัยที่เรียกห้วงเวลา ประเพณี และพิธีกรรมที่สันนิษฐานว่าคือการฉลองปีใหม่ในชื่อที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น pr.t-spd.t “การปรากฏตัวของโซปเด็ต” (ตรงกับการปรากฏตัวของดาวโจร), wpy-rnp.t “การเปิดปี” (ตรงกับวันแรกตามปฏิทินราษฎร์ ซึ่งเป็นปฏิทินทางสุริยคติของอียิปต์โบราณ ใช้ควบคู่กันกับปฏิทินทางจันทรคติ), tpy-rnp.t “การเริ่มต้นปี” (ตรงกับวันแรกของปฏิทินทางจันทรคติ) และ msw.t Rꜥ “วันประสูติของมหาเทพรา” (อยู่ในช่วงเศษ 5 ห้าวันที่พูดถึงไปข้างต้น)

.

จนนำไปสู่ข้อสงสัยว่าเทศกาลสำคัญบางเทศกาลมีการฉลองในช่วงเวลาเดิมหรือด้วยพิธีกรรมแบบเดิมตลอดห้วงประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณหรือไม่ เมื่อเทียบกับไทย แค่ในระยะร้อยกว่าปีที่ผ่านมามีการย้ายวันขึ้นปีใหม่ถึงสองรอบ และในปัจจุบันหลายคนก็ฉลองปีใหม่ถึงสามครั้ง คือปีใหม่สากล ปีใหม่จีน และปีใหม่ไทย

.

อนึ่ง หลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งจากสมัยกษัตริย์รามเสสที่ 2 (1279–1213 ปีก่อนคริสตกาล) เปรียบวันขึ้นปีใหม่เป็นวันเกิดของมหาเทพรา-ฮอรัคตี้ (ปางหนึ่งของราที่รวมกับมหาเทพฮอรัส) ผ่านอุปลักษณ์แสงอาทิตย์แรกแห่งปี เพจอุณรุทล้านเรื่องจึงขออัญเชิญบทสวดบูชารา-ฮอรัคตี้ มาเพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ผู้อ่านทุกท่านครับ

.

“Homage to Thee, Ra-Horakhty, holy god, creator of the things which exist:

Tanen who givest life to the gods and to the being of primaeval matters, maker of heaven, which thou didst stablish firmly by thy two hands, and didst make for thyself a place wherein to rise.

.

“Beautiful art Thou, O Ra-Horakhty, in thy rising on the eastern horizon! Gods and men lift up their hands in praise of thy beautiful face!

.

ในวันที่ 11 กันยายนของทุกปี ชาวอียิปต์บางกลุ่มในปัจจุบันยังฉลองปีใหม่ในนามเทศกาลนารูซ (คล้ายกับเทศกาลนูรูซหรือปีใหม่เปอร์เซีย) โดยอ้างอิงวันที่ตามปฏิทินคอปติก ซึ่งกำหนดให้วันที่ 11 กันยายนเป็นวันแรกของเดือนที่ 1 ปัจจุบันปฏิทินคอปติกยังมีการใช้งานอยู่ในหมู่คริสตชนคอปติกในอียิปต์ และถือได้ว่าเป็นปฏิทินที่ยังแสดงลักษณะของปฏิทินอียิปต์โบราณไว้มากที่สุด กล่าวคือ ชื่อเดือนคอปติกหลาย ๆ เดือนมีที่มาจากชื่อเดือนในปฏิทินอียิปต์โบราณ และมีการคำนวณให้หนึ่งเดือนมี 30 วัน โดยระหว่างเดือนสิบสองและเดือนหนึ่งมีเดือน “ทด” ความยาวห้าหรือหกวัน

.

แอดมินกรวิกและแอดมินเนเฟอร์ติติ

.

อ้างอิงบางส่วนจาก

Masashi, Fukaya. The Festivals of Opet, the Valley, and the New Year: Their Socio-Religious Functions. Oxford: Archaeopress, 2020.

Herne, Robin. Pantheon The Egyptians. Winchester: Moon Books, 2021.

.

คำบูชามหาเทพมหาเทพรา-ฮอรัคตี้ ดัดแปลงจาก

Budge, E.A. Wallis. The Greenfield Papyrus in the British Museum. London: Harrison and Sons, 1912.

.

เกริ่นนำเรื่องปฏิทินคอปติกและปฏิทินตามความเชื่ออื่น ๆ

https://www.timeanddate.com/calendar/coptic-calendar.html





コメント


DON'T MISS THE FUN.

Thanks for submitting!

FOLLOW ME ELSEWHERE

  • Facebook
  • Instagram

SHOP MY LOOK

No tags yet.

POST ARCHIVE

bottom of page