อะมีนะห์/วีณา – เหยื่อพิธีสตีในละครลายกินรี
นาน ๆ ครั้งแอดมินกรวิกก็เบื่อหน้าจอคอมพิวเตอร์และโปรแกรมโฟโต้ช็อปของตัวเองบ้าง เลยโบยบินไปไกลแสนไกลจากฟากฟ้าป่าหิมพานต์เพื่อชมทิวทัศน์ ครั้งนี้ลองบินไปภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในเมืองที่ชื่อสุรัต ซึ่งเป็นเมืองท่าเก่าแก่มีชื่อเสียงในเรื่องผ้าของอินเดีย
โอ้! เกิดเสียงเอะอะอึกทึกอะไรกันนี่ ผู้คนต่างรวมกันเป็นหมู่คณะ ตีฆ้องร้องป่าวราวกับมีงานฉลอง ข้าต้องบินตามไปดู
มีคนร้องป่าวประกาศว่ากำลังมีสตรีผู้กล้าหาญ ตั้งใจจะเสียสละชีวิตตามสามีที่พึ่งล่วงลับไปเมื่อวานนี้ เธอจะนอนกอดศพของผู้เป็นภัสดา ตบะอันแก่กล้าของเธอจะทำให้เปลวไฟลุกขึ้นมาเอง นี่เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ชาวมุสลิมบางคนแอบซุบซิบกันว่า ถึงเราจะไม่เชื่อว่าพิธีกรรมนี้ แต่เหตุการณ์นี้น่าสนุกเสียจริง
ขบวนชาวสุรัตเดินทางไปถึงบ้านของแม่ม่ายผู้นั้นแล้ว ใครบอกคนกระซิบบอกแก่กันว่าอะมีนะห์เขาเกิดเป็นมุสลิม แต่หลงรักพ่อค้าฮินดู น่าสงสารเสียเหลือเกิน ต้องมาตกตายในคราวนี้
ข้ารีบบินไปเกาะหน้าต่าง หมายใจจะเตือนแม่ม่ายผู้นี้ให้รีบหนีออกไป
แต่เมื่อข้าบินไปถึง บ้านของพ่อค้าคนนั้นกลับวุ่นวาย ได้ยินเสียงร้องตะโกนว่า อะมีนะห์! อะมีนะห์! เธอหายไปไหน
ข้าบินจากมาอย่างเงียบเชียบ บินขึ้นสูง เห็นสตรีนางหนึ่งในชุดส่าหรีสีสันสดใส รีบจ่ายเงินให้กปิตันที่แต่งตัวไม่เหมือนคนท้องที่ ก่อนนางจะลักลอบเข้าไปในเรือ แล้วเรือลำนั้นก็แล่นลับออกจากท่าอย่างรวดเร็ว
ความวุ่นวายในเมืองไม่นานก็สงบลง บางคนถึงกับบ่นว่าเสียดายที่ไม่ได้ดูเรื่องสนุก สตรีคนอื่นในครอบครัวของพ่อค้าที่ตีอกชกหัวว่าอะมีนะห์ไร้ศักดิ์ศรี อะมีนะห์หนีไปแล้ว
ข้ายิ้มกริ่ม บินจากไป ความกล้าหาญของสตรีที่ตัดสินใจไปเผชิญโลกน่าสนุกกว่าเป็นไหน ๆ
(เหตุการณ์สมมุติต่อตัวละครอะมีนะห์/วีณา จากนวนิยายเรื่อง “ลายกินรี” ของพงศกร)
.........
ในนวนิยายเรื่อง #ลายกินรี เล่มที่หนึ่งในนวนิยายชุด #นักสืบสตรีศรีอยุธยา ของ #พงศกร มีตัวละครประกอบที่น่าสนใจอยู่ตัวหนึ่ง เธอมีชื่อว่าอะมีนะห์ หรือที่ฉบับละครของช่องสามเปลี่ยนชื่อเป็น วีณา
อะมีนะห์เป็นหญิงมุสลิมที่เกิดในวรรณะแพศย์ เมื่อโตขึ้นพบรักและแต่งงานกับสามีที่อยู่ในวรรณะแพศย์เช่นเดียวกัน แต่สามีของเธอก็มาด่วนจากไปเสียก่อน แม่ของเธอจึงบังคับให้อะมีนะห์ทำพิธีสตี หรือพิธีเผาตัวเองให้เสียชีวิตไปในขณะที่กอดศพของสามีบนกองจิตกาธาน อะมีนะห์ไม่ยอม และแอบลักลอบหนีไปกับเรือค้าขายของชาวอังกฤษกระทั่งมาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
ในฉบับละครของช่องสาม อะมีนะห์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวีณา เข้าใจว่าเพื่อเปลี่ยนภูมิหลังของตัวละครให้เป็นหญิงชาวฮินดูเช่นเดียวกับสามี
ผู้เขียน (แอดมินกรวิก) ได้ยินเรื่องราวของตัวละครตัวนี้ แล้วเกิดความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวอินเดียนั้นฝังใจกับการปกครองอันกดขี่ของเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษมาก และกล่าวว่าความโหดร้ายของพิธีสตีนั้นถูกกล่าวอ้างเกินจริง (exaggerate) โดยชาวอังกฤษ แท้จริงแล้วพิธีสตีไม่ได้แย่หรือโหดร้ายขนาดนั้น
อนุทวีปอินเดียนั้นกว้างใหญ่ไพศาล วัฒนธรรมของชนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันมาก ตั้งแต่อาหารการกิน ดนตรี ภาษา รวมไปถึงข้อปฏิบัติทางศาสนาอีกด้วย จึงเกิดเป็นคำถามว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่หญิงอย่างอะมีนะห์หรือวีณา จะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
ไม่มีข้อสงสัยว่าชาวฮินดูในอดีตมีการประกอบพิธีสตีจริง และถือกันว่าแม่ม่ายที่เสียชีวิตพร้อมร่างของสามีบนกองเพลิงนั้นเป็นอุดมคติของชาวฮินดู แต่สิ่งที่ต้องถามคือพิธีสตีแพร่หลายแค่ไหน หากหญิงทุกคนที่สามีเสียชีวิตต้องประกอบพิธีสตีแล้วล่ะก็ คำว่า “แม่ม่าย” คงไม่จำเป็นในภาษาต่าง ๆ ของอินเดีย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนต้องเผาตัวเองตายตามสามีไป ภาษาฮินดีเรียกแม่ม่ายว่าวิธวา (विधवा) ภาษาเบงกาลีใช้คำว่าพิธพา (বিধবা) เป็นต้น น่าสังเกตว่า ในตำราสตรีธรรมปัทธติ (स्त्रीधर्मपद्धति) ตำราสอนหญิงภาษาสันสกฤตที่เขียนในคริสตศตวรรษที่ 17 กลับเรียกผู้หญิงที่ประกอบพิธีสตีว่า “นางผู้ไม่เป็นแม่ม่าย” (อวิธวานารี)
ถ้าไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนต้องประกอบพิธีสตี ใครกันเล่าที่ต้องกระทำ เป็นไปได้แค่ไหนว่าอะมีนะห์ในช่วงปีค.ศ. 1688 ต้องประกอบพิธีสตี? ผู้หญิงในสังคมสุรัตโบราณมีการกดดันทางสังคมให้พวกเธอเลือกเข้ากองไฟมากกว่าเลือกมีชีวิตต่อไปในฐานะแม่ม่ายหรือไม่?
เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า พิธีสตีนั้นประกอบมากในพื้นที่แถบเบงกอล (รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย และประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน) และพื้นที่แถบราชสถาน โดยเฉพาะในหมู่ชาวราชปุต รัฐราชสถานกับเมืองสุรัตนั้นอยู่ใกล้กัน การทำความเข้าใจประเพณีสตีของราชสถานปัจจุบันอาจสร้างความเข้าใจถึงกลไกสังคมที่กดดันผู้หญิงให้ประกอบพิธีสตี และอาจนำไปเทียบเคียงกับวัตรปฏิบัติในเมืองสุรัตสมัยพระนารายณ์
นักมานุษยวิทยาหญิงนาม Lindsey Harlan ได้ลงพื้นที่สำรวจรัฐราชสถานในช่วงปี 1984-1985 เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง เธอบรรยายถึงการลงพื้นที่ครั้งนั้นว่า “ฉันไม่คาดคิดเลยว่าการบูชาสตีจะยังเป็นวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองอยู่ เพราะหนังสือเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาในราชสถานพูดถึงสตีผ่าน ๆ และรัฐบาลอินเดียได้สั่งห้ามการเผาตัวเองของแม่ม่ายนานแล้ว การบูชาสตีน่าจะล่มสลายไปแล้ว แต่ฉันคิดผิด แม้ว่าในปัจจุบันนี้ผู้หญิงน้อยคนนักจะจบชีวิตตนเองในฐานะสตี การบูชาสตีกลับยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางศาสนาของหญิงราชปุต โดยไม่ทีท่าว่าจะเสื่อมคลาย”
พลังอำนาจของประเพณีการบูชาสตีมีมากขนาดไหนกัน พระเจ้าอักบาร์มหาราชแห่งราชวงศ์โมกุลสั่งห้ามการเผาตัวตายตามสามีตั้งแต่ค.ศ. 1582 รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ (ในขณะนั้นตั้งอยู่ที่โกลกาตา) สั่งห้ามการประกอบพิธีสตี หรือที่ชาวอังกฤษฟังเป็น suttee ไปตั้งแต่ปี 1829 ก่อนจะค่อย ๆ บังคับใช้กฎหมายแก่เมืองขึ้นของเจ้าประเทศราชอินเดียในพื้นที่คุชราตตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1840 และเมื่ออินเดียได้รับเอกราช ได้ประกาศให้การสนับสนุนหญิงประกอบพิธีสตี รวมไปถึงการยกย่องพิธีสตี (glorifying) นั้นผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 1987 หากในปีเดียวกันนั้นเอง ที่รัฐราชสถาน รูป กันวาร์ (Roop Kanwar) ได้เผาตัวเองจนสิ้นใจไปพร้อมกับร่างของสามี และจนถึงปัจจุบัน สถานที่เธอเผาตัวเองจนเสียชีวิตไปนั้น ยังมีการตั้งเสาหิน ห่มส่าหรี คล้องพวงมาลัยไว้เพื่อกราบไหว้บูชา
แม้ว่าในทางทฤษฎี แม่ม่ายมิได้ถูกบังคับให้ประกอบพิธีสตี แต่ในทางปฏิบัติ หญิงชาวราชปุตถูกบีบบังคับจากสังคมให้เป็นสตีอย่างลึกซึ้ง
ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยินว่า ชายชาวราชปุตนั้นเป็นชนชาติวรรณะกษัตริย์ที่กล้าหาญ ขนาดจักรวรรดิโมกุลยังไม่สามารถพิชิตได้ แต่สิ่งที่เราไม่คอ่ยได้รับรู้คือบทบาทในอุดมคติของหญิงชาวราชปุต พวกเธอถือว่าตนเองเกิดมามีหน้าที่รับใช้ผู้ชาย หญิงชาวราชปุตนั้นถือพรตพิเศษอย่างหนึ่ง เรียกว่า ปติวฺรต
คำว่า ปติ นั้น ภาษาไทยรับมาใช้เป็นคำว่า บดี มีนัยยะหมายถึงสามี ส่วน วฺรต นั้นรูปไทยคือพรต แปลว่าคำสาบาน ดังนั้น ปติวฺรต (pativrata) จึงหมายความว่า คำสาบานต่อสามี คำว่า ปติวฺรต ยังแอบเข้ามาในภาษาไทยทางนวนิยายและละครช่องสาม ในชื่อเรื่อง #ปดิวรัดา อีกด้วย
Lindsey Harlan อธิบายว่า ปติวฺรต มีความหมายสองนัย พวกเธอมีหน้าที่รับใช้ทุกอย่างที่สามีต้องการ และส่งเสริมให้สามีทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ในสังคมราชปุต หากสามีเสียชีวิตก่อนภรรยา พวกเธอจะต้องสงสัยว่าถือพรตไม่ดีพอ สามีจึงได้เสียชีวิตไป ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความสงสัยนี้ หญิงราชปุตสามารถถือคำสาบานเพิ่มอีกอย่างหนึ่งได้ - สตีวฺรต – เผาตัวเองให้เป็น “ผู้ไปพร้อม” (สหคามินี) กับสามี เมือพิธีการจบลง หญิงราชปุตผู้นั้นจะนับว่าเป็น “สตีมาตา” หรือแม่สตี คนในครอบครัวจะไม่เรียกชื่อของเธออีก จากนั้นจะได้รับการบูชาในฐานะบรรพบุรุษและผู้คุ้มครองครอบครัวร่วมกับสตีมาตาคนอื่นๆ ในครอบครัวของสามี และนับว่า ชีวิตของผู้หญิงราชปุตผู้นั้นจบลงอย่างสมบูรณ์
ช่วงเวลาหลังจากเธอเอ่ยคำสาบานสตีวฺรตไปจนถึงยามประกอบพิธี ชาวราชปุตนับว่าผู้ถือสตีวฺรตมีฤทธิ์มาก สัตย์สาบานที่พวกเธอให้ไว้ทรงพลังขนาดที่ว่าเมื่อเธอปีนขึ้นแท่นพิธี (เรียกว่ามหาสตียาน หรือ พาหนะอันยิ่งใหญ่ของสตี) ขณะเธออุ้มร่างของสามีขึ้นมาแนบอก สัต (แก่นแท้) ในกายจะจุดเปลวไฟให้ลุกไหม้ขึ้นมาพาเธอไปพร้อมกับสามีโดยไม่ต้องจุดไฟ พวกเธอจะมีวาจาสิทธิ์ สาปสิ่งใดก็จะสัมฤทธิ์ผลไป 7 ชั่วโคตร ครอบครัวราชปุตทุกครอบครัวมักมีคำสาปจากสตีมาตาในอดีตหลงเหลือเสมอ ในแง่นี้ การยอมรับพิธีสตี จึงนับว่าเป็นการเรียกศักดิ์ศรีของผู้หญิงคืนจากสังคมได้เช่นกัน สังคมได้ “ให้โอกาส” พวกเธอเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต
Harlan ยกตัวอย่างว่า หญิงชาวกุชชาร์คนหนึ่งแต่งงานเข้าครอบครัวชาวราชปุต เมื่อสามีเสียชีวิต นางตัดสินใจเข้าพิธีสตี นางถูกเหยียดหยามจากลูกสาวของภรรยาหลวงว่านางไม่กล้าหรอก นางไม่มีสัตที่จำเป็นอย่างหญิงชาวราชปุต ขณะที่นางปีนขึ้นมหาสตียาน เธอจึงสาปลูกสาวของภรรยาหลวงทุกคนว่า ทั้งพวกเธอและลูกสาวของพวกเธอ จะไม่ได้ความสุขสามประการของผู้หญิงคือลูกชาย ทรัพย์สิน และสามีที่ดี เมื่อได้ฟังดังนั้นเหล่าลูกสาวของภรรยาหลวงเกิดความหวาดหวั่น ขอให้นางมีเมตตา นางจึงยอมถอนคำสาปว่า หากพวกเธอมีความสุขสองประการแล้ว ย่อมไม่ได้รับความสุขประการที่สาม ครอบครัวนั้นกล่าวกับ Harlan ว่าคำสาปยังเป็นจริงจนถึงวันนี้ และหญิงชาวกุชชาร์คนนั้นเป็นแม่ที่ดีสำหรับพวกเธอ
ในราชสถาน และหมู่บ้านทั่วอินเดีย ยังมีการตั้งสิ่งที่เรียกว่า ศิลาสตี (Sati stone) เพื่อรำลึกถึงหญิงที่เคยประกอบพิธีสตีในชุมชนอีกด้วย ในบางท้องถิ่นพวกเธอกลายเป็นเทพีประจำหมู่บ้าน ที่มีคนกราบไว้บูชาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งขอพร และขอบนบานศาลกล่าว ไม่ต่างอะไรจากคนไทยตั้งใจถวายไข่ต้มร้อยฟองแก่เจ้าพ่อต้นไทรสักนิด
ชีวิตของชาวราชปุตยังวันเวียนกับเรื่องเล่าเหล่านี้ เล่าถึงบุญคุณหรือคำสาปที่มีผลต่อชะตาชีวิตของตนเอง ยังกราบไหวผู้ผ่านพิธีสตีในฐานะบรรพบุรุษของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น เป็นไปได้ว่าเขาหรือเธอยังคงเดินผ่าน ขอความช่วยเหลือ ขอพรกับศิลาสตีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมความเชื่อนี้ถึงได้ฝังรากลึกในสังคมของชาวราชปุตเป็นพิเศษ
เมื่อเราขยับเข้ามาใกล้เมืองสุรัต ในพื้นที่คุชราตเองก็มีประเพณีการยกย่องผู้ประกอบพิธีสตีเช่นกัน ชาวคุชราตมีวัฒนธรรมในการตั้งศิลาจารึกปาลิยะ (Paliya) เพื่อรำลึกถึงผู้ตายอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในภูมิภาคกัจฉ์ (Kutch) ที่น่าสนใจคือ ในหมู่บ้านนิโรนา (Nirona) มีการพบปาลิยะที่เป็นศิลาสตีตั้งอยู่ระหว่างปาลิยะที่รำลึกถึงนักรบสองแผ่นอีกด้วย เป็นไปได้ว่าหญิงที่ประกอบพิธีสตีจะได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับวีรบุรุษของท้องถิ่น ในขณะที่ศิลาจารึกถึงนักรบนั้นแกะสลักเป็นรูปทหารม้าพร้อมรายละเอียดในชีวิตของผู้ตาย ปาลิยะที่รำลึกถึงสตีผู้นั้นกลับเป็นภาพมือขวาสวมพวงกำไลข้อมือ ประหนึ่งว่าหญิงที่เสียชีวิตไปนั้น กลายเป็นเทพีผู้ไร้ชื่อเสียงเรียงนามเช่นเดียวกับหญิงในราชสถาน
กลับมาที่คำถามเดิมของเรา เป็นไปได้หรือเปล่าที่อะมีนะห์จำต้องประกอบพิธีสตีในเมืองสุรัต ในคุชราต ในรัชสมัยของพระนารายณ์?
คำตอบที่ผู้เขียนได้คือ ‘ไม่น่าเป็นไปได้’ เพราะในแถบนั้นวรรณะที่นิยมประกอบพิธีสตีคือวรรณะกษัตริย์หรือนักรบ และกลุ่มชนที่มักประกอบพิธีนี้คือชาวราชปุต เมื่อพิจารณาว่าผู้พยายามเกลี้ยกล่อมให้อะมีนะห์เข้ากองไฟไปพร้อมกับสามีคือผู้เป็นแม่ของอะมีนะห์ ก็นับว่าแปลกเพราะการตายของเธอน่าจะนับเป็นคุณต่อครอบครัวของฝั่งสามีมากกว่า
กระนั้น ชีวิตของผู้หญิงที่มีชะตากรรมอย่างอะมีนะห์ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย มีการค้นพบศิลาสตีที่ร่วมสมัยกับพระนารายณ์อยู่เรื่อย ๆ ชาวอังกฤษที่เข้ามาปกครองมีบันทึกเกี่ยวกับการประกอบพิธีสตีอยู่มากมาย ไม่ว่าพวกเขาจะเข้มงวดโหดร้ายกับชาวอินเดียอย่างไร พวกเขาก็บันทึกพิธีกรรมแปลกประหลาดนี้ไว้เป็นจำนวนมาก
ครั้งหนึ่ง ในเมืองสุรัตของเรานี้เอง ชาวอังกฤษชื่อเจมส์ พิกส์ (James Piggs) พยายามป้องกันไม่ให้เกิดพิธีสตีขึ้นกับภรรยาม่ายยังสาวผู้หนึ่ง เขาบันทึกไว้ในปี 1834 ว่า “ผมได้รีบรุดไปที่บ้านของเธอ คราแรกเธอมั่นคงกับการตัดสินใจของตน ผมเกลี้ยกล่อมให้เธอเลื่อนพิธีออกไปสักสองสามวัน หากเธอยังมั่นคงกับความปรารถนาของเธออยู่ เธออาจประกอบพิธีได้โดยไม่มีการขัดขวาง ตามคาด เวลา 24 ชั่วโมงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หลังจากคุ้มคลั่งเพราะความโศกเศร้ารุนแรง น้ำตากลายเป็นเครื่องปลอบประโลม และเธอประกาศว่าจะไม่ประกอบพิธีสตีแล้ว”
แอดมินกรวิกก็ได้แต่หวังว่าเหตุการณ์อย่างอะมีนะห์/วีณาจะไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง หากพวกเราไม่ปรารถนาให้มีหญิงต้องเสียชีวิตเพราะผู้ชาย ต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ไม่กดดันให้ความสำเร็จของผู้หญิงขึ้นอยู่กับชีวิตของผู้ชายด้วยเช่นกัน
บทความและภาพโดย แอดมินกรวิก
บรรณาธิการโดย แอดมินอุสเบค
รายการอ้างอิง
https://www.atlasobscura.com/articles/what-is-sati
https://kashgar.com.au/blogs/history/the-practice-of-sati-widow-burning
https://feminisminindia.com/2020/08/07/roop-kanwar-last-known-case-sati-india-relevance-today/
Harlan, Lansay, “Perfection and Devotion: Sati Tradition in Rajasthan” in Hawley, John Stratton (Ed.), 1994, Sati, the Blessing and the Curse: The Burning of Wives in India, pp. 79-90.
Shukla, G. D., 1987, “British Attitude Towards the Practice of Sati in Gujarat in the 19th Century” in Proceedings of the Indian History Congress, 1987, Vol. 48 (1987), pp. 480-482.
หมายเหตุ: ข้าได้ยินมาว่า มีผู้เล่าว่าต้นเค้าของพิธีสตีคือการลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนางสีดา ข้าว่าไม่น่าใช่ การลุยไฟของนางสีดามีเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้นอกใจพระรามเสียมากกว่า พิธีนี้ชาวอินเดียเรียกว่าพิธีอคฺนิปรีกฺษ ซึ่งให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดเดินเข้าไปในกองไฟ ถ้าหากเป็นผู้บริสุทธิ์ พระอัคนีจะไม่ทำอันตรายใดๆ เลย
พิธีนี้อาจสัมพันธ์กับ Trial by Ordeal ของยุโรป หรือกฎหมายลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิงของไทยเสียมากกว่า โดยยึดถือกันว่าคำสาบานจะช่วยให้ผู้บริสุทธิ์รอดชีวิตจากการดำน้ำหรือลุยไฟนั่นเอง
Comments