เมื่อกระต่ายป่าฝรั่งเศสต้อง #ย้ายบ้าน

จี๊ด จี๊ด
.
ข้าไม่ใช่หนูหรอกนะ เป็นจิ้งหรีดต่างหากเล่า
.
เฮ้อ ข้าล่ะสงสารกระต่ายป่าเพื่อนยากของข้าเหลือเกิน
.
ไม่นานมานี้ราชสีห์ นายแห่งสรรพสัตว์บาดเจ็บเพราะโดนสัตว์มีเขาแทงเข้าให้
.
ท่านว่าสิงโตบาดเลือดแค้นไหมล่ะ?
.
แน่นอนที่สุด สิงโตบ้าอำนาจสั่งเนรเทศสัตว์มีเขาทุกตัวออกจากดินแดน พวกแพะ แกะ วัวหนุ่ม กวางหนุ่มต่างต้องพากันลี้ หอบข้าวของกันไปเป็นการใหญ่
.
เมื่อกระต่ายป่าขี้กลัว สหายของข้า เห็นเงาของตนเองก็เกิดตื่นตระหนกตกใจ
.
ข้าก็พยายามบอกเขาแล้วว่าจะกลัวไปไย หูยาว ๆ คู่นี้ของเขาเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มาตามธรรมชาติ จะแก้ไขอย่างไรได้
.
แต่เขาก็ยังไม่คลายกังวล เขาบอกว่าตราบใดที่หูของเขายังยาวยืดอยู่บนหัวอย่างนี้ สักวันพวกเจ้าหน้าที่ก็จะต้องมาตามล่าเขา ยิ่งใครต่อใครอาจจะพูดไปได้ว่าหูตั้ง ๆของเขามันดูเป็นเขา เป็นเรื่องหนวดเต่าเขากระต่าย ยิ่งเขาเป็นเพียงกระต่ายป่าสามัญอย่างนี้ ใครจะช่วยเขาได้เล่า
.
ว่าแล้วเขาก็ออกเดินทางไป
.
โถ เจ้าเพื่อนยาก!
.
ว่าแต่หนวดจิ้งหรีดของข้า มันดูเหมือนเขาหรือเปล่านะ?!?
.
—-----------------------------------------------------
สรุปและดัดแปลงจากนิทานเรื่อง Les Oreilles du lièvre ใน Jean de La Fontaine. Fable, Livre V
.
นิทานเรื่อง “หูกระต่ายป่า” รับปีกระต่ายเรื่องนี้อาจจะดูหดหู่ไปเสียหน่อยสำหรับวาระการเฉลิมฉลองปีใหม่ แต่นิทานคติ (la fable) ที่ประพันธ์โดยกวีชาวฝรั่งเศส ฌ็อง เดอ ลา ฟงแตน (Jean de La Fontaine) มักจะเป็นเรื่องที่เขียนด้วยน้ำเสียงเสียดสีและจบอย่างหดหู่หรือโหดร้าย แต่ล้วนแล้วแต่แต่งเพื่อสร้างความบันเทิงแด่ชนชั้นสูงในราชสำนักของหลุยส์ที่สิบสี่ นิทานร้อยกรองเรื่องนี้มีความยาวเพียงยี่สิบสองบาท และไม่มีบทสรุปเพิ่มเติม ต่างจากนิทานเรื่องโด่งดังเรื่องอื่น ๆของลา ฟงแตน ที่มีเนื้อเรื่องยาวกว่า มีสัมผัสสระและสัมผัสอักษรที่โดดเด่นกว่าอย่างเช่นเรื่อง “หมาป่ากับลูกแกะ” “กบกับแม่วัว”
.
ลา ฟงแตน เกิดในปี ค.ศ.1621 และสิ้นชีพในปี ค.ศ.1695 เขาเริ่มอาชีพกวีเมื่ออายุ 47 ปี ดังนั้นงานเขียนของชายวัยกลางคนจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้ใหญ่ คือกวีนิพนธ์และนิทานสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นเรื่องประโลมโลก ก่อนที่เขาจะมาประพันธ์ “นิทานคติ” ทยอยตีพิมพ์รวมเล่มตั้งแต่ปี 1668-1694
.
ลา ฟงแตน เป็นข้าราชสำนักที่มีชีวิตโลดโผน มีความสามารถโด่งดังในวงสังคม เขาเป็นศิลปินในอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงหลายคน โดยเฉพาะนายนิกอลา ฟูเก (Nicolas Fouquet, ค.ศ. 1615-1680) อดีตเสนาบดีเจ้าของปราสาทโว เลอ วิกงต์ ซึ่งถูกพระเจ้าหลุยส์สั่งจับกุมในข้อหายักยอกเงินท้องพระคลัง ทว่าลา ฟงแตนยังคงซื่อสัตย์ต่ออดีตรัฐบุรุษที่ถูกขังลืม เขาได้เป็นราชบัณฑิตในราชบัณฑิตยสภาของฝรั่งเศสในปี 1684 แม้จะมีเสียงคัดค้านเพราะเขาเคยเขียนงานที่เข้าข่าย “ติดเรต” “บ่อนทำลายศีลธรรมอันดี” รวมไปถึงพฤติกรรมการเป็นหนุ่มเจ้าสำราญ ชอบปาร์ตี้ของเขา (แต่ก็น่าแปลกที่ก็เป็นชนชั้นสูงนั่นเองที่เสพผลงานประโลมโลกของเขาและยังเป็นเจ้าของงานปาร์ตี้)
.
ลา ฟงแตน ประพันธ์ “นิทานคติ” โดยดัดแปลงเค้าเรื่องจากวรรณคดีหลายเรื่อง ทั้งนิทานอีสปของกรีกโบราณ, นิทานจิ้งจอกมุขปาฐะในยุคกลาง, ผลงานของโจวันนี บอกกัชโช กวียุคกลางชาวอิตาเลียน, นิทานอินเดีย ฯลฯ โดยดัดแปลงรายละเอียดทั้งในแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง
.
นิทานเรื่อง “หูกระต่ายป่า” ดัดแปลงมาจากนิทานของกวีชาวอิตาเลียน กาเบรียล ฟาเอร์โน (ค.ศ. 1510-1561) โดย ลา ฟงแตน เปลี่ยนจากจิ้งจอกในต้นฉบับที่หนีจากอาณาจักรสิงโตเพราะไม่มีหางแม้เพื่อนลิงจะช่วยยืนยันว่าจิ้งจอกมีหาง กลายมาเป็นเรื่องของกระต่ายป่าที่มีนิสัยขี้กลัวและลิงก็กลายเป็นจิ้งหรีดแทน น่าเสียดายที่ไม่ว่าเรื่องใด พวกสัตว์ก็ไม่มีความสุขเพราะต้องหนีจากอำนาจความอยุติธรรมของผู้ปกครองที่ขาดศีลธรรมอยู่ร่ำไป
.
อย่างไรข้าก็ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีแต่เรื่องดี ๆ เกิดขึ้นในปีเถาะนี้ ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจมากล้ำกรายนะท่าน
.
บทความโดย แอดมินอุสเบค
ภาพโดย แอดมินกรวิก
บรรณาธิการโดย แอดมินดาริอุส
.
—-----------------------------------------------------------------------
.
บรรณานุกรมภายในเพจ
.
บทความเกี่ยวกับ แปโร นักเขียนใหญ่ในรัชสมัยหลุยส์ที่สิบสี่ร่วมสมัยกับลา ฟงแตน และโด่งดังจากการแต่งนิทานเช่นกัน
.
บทความเกี่ยวกับโมลิแยร์ นักเขียนร่วมสมัยกับลา ฟงแตน ที่ก็เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบสี่ร้อยขวบไปเมื่อปีที่แล้ว
.
บทความเกี่ยวกับจิ้งจอกตัวแสบ นิทานคติเรื่องดังที่สุดในยุคกลางที่กลายมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของลา ฟงแตน
.
โอเปรา “เจ้าหญิงกบ” ในงานแต่งงานหน้าพระพักตร์มกุฎราชกุมารในหลุยส์ที่สิบห้า
.
—---------------------------------------------------------------------
.
รายการอ้างอิง
.
https://www.chateauversailles.fr/decouvrir/histoire/grands-personnages/jean-fontaine
http://www.la-fontaine-ch-thierry.net/oreilliev.htm
http://www.la-fontaine-ch-thierry.net/monnaieparis.htm
.
รายการอ้างอิงภาษาไทย บทความในวาระสี่ร้อยปีชาติกาลของลา ฟงแตน โดย พิริยะดิศ มานิตย์
https://www.sm-thaipublishing.com/content/8961/jean-de-la-fontaine-piriyadit-manit