top of page

ออนฟิม เด็กชายที่ดังที่สุดในรัสเซียยุคกลาง



ค่ำวันหนึ่งหลังเยฟเฮนผู้เร่ร่อนเตร็ดเตร่มาจนถึงถนนนอฟโกรอดสกายา เขาก็ผล็อยหลับไป...

.

“เอ๊ะ นี่มันที่ไหน” เยฟเฮนนึกขึ้นเมื่อตื่นขึ้นมา พบว่ารอบ ๆ ตัวเขาคือย่านชุมชนใกล้แม่น้ำ เต็มไปด้วยผู้คนนุ่งชุดหนา ๆ แปลก ๆ ทึม ๆ เต็มไปหมด

.

“ลุง ๆ นี่ที่ไหนครับ” เยฟเฮนถามลุงหนวดเฟิ้มคนหนึ่งที่ผ่านมาพอดี

.

“พระเจ้าช่วย เหตุใดเจ้ากล่าวอะไรแปลก ๆ ที่นี่คือย่านเนเรฟสกีแห่งนอฟโกรอดไงล่ะ” ลุงตอบก่อน

.

เยฟเฮนลองมองดูรอบ ๆ พบว่ามีแต่ผู้คนหนวดเฟิ้มเต็มไปหมดที่กำลังเหมือนขายของหรือเจรจาการค้ากันใต้ท้องฟ้าที่มืดทึมของเมืองนอฟโกรอด เขากำลังย้อนยุคมาแน่ ๆ แต่ก่อนที่จะนึกอะไรออกเพิ่มเติม ก็มีใครผลักเขาล้มหน้าคะมำ

.

“โอ๊ย” เยฟเฮนตะโกนออกมาด้วยความเจ็บปวดหลังจากเขาโดนผลักล้มไปกับพื้น กลุ่มเด็ก ๆ กำลังวิ่งผ่านเขาไป พร้อมกับตะโกนชื่อเด็กที่เพิ่งผลักเขาล้มด้วย

.

“ออนฟิม ๆ เจ้าอยู่ไหน” เด็ก ๆ กลุ่มนั้นร้องหา

.

จู่ ๆ ก็มีเด็กคนหนึ่งท่าทางแสบไม่ใช่เล่นโผล่ออกมาจากชายเสื้อผู้คน ทำหน้าตาทะลักทะเล้นไม่ใช่เล่นกำลังตะโกนบอกเพื่อน

.

“ข้าออนฟิมอยู่นี่ไง ข้าคือสัตว์ร้าย แฮ่!”

-------------------------

.

หากจะกล่าวถึงเอกสารที่สะท้อนชีวิตคนรัสเซียในยุคกลางได้ดีที่สุด คงไม่มีอะไรโด่งดังไปกว่าคอลเลกชั่นจารึกบนกระดาษเปลือกไม้ใบเบิช (Birch Bark) ที่ค้นพบในเมืองนอฟโกรอด (Novgorod) เมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรรุสโบราณก่อนที่จะย้ายศูนย์กลางไปตั้งที่เมืองคีฟ (Kyiv) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครนปัจจุบัน เมืองนอฟโกรอดตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของรัสเซีย ใกล้กับเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและประเทศเอสโตเนียและลัตเวียในปัจจุบัน และถูกเรียกว่า “เวลิกี นอฟโกรอด” (Velikiy Novgorod) หรือนอฟโกรอดที่ยิ่งใหญ่ เพื่อแยกชื่อเมืองออกจากเมืองชาวสลาฟอีกหลายเมืองในรัสเซีย ยูเครน และเบลารุสที่ตั้งชื่อตามเมืองนอฟโกรอดเช่นกัน

.

จารึกบนใบเบิชจำนวนมากถูกค้นพบในการสำรวจทางโบราณคดีครั้งใหญ่ในเขตกลางเมืองเก่าของนอฟโกรอดในปี ๑๙๕๑ ภายหลังจากความเสียหายที่เกิดเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ คณะนักโบราณคดีของมหาวิทยาลัยมอสควาและรัฐบัณฑิตยสถานสหภาพโซเวียตได้ค้นพบจารึกใบเบิชในสภาพสมบูรณ์นับร้อยชิ้น (นับถึงปัจจุบันพบจารึกในเมืองนอฟโกรอดทั้งหมด ๑,๑๐๒ ชิ้น) รวมถึงหลักฐานด้านวิถีชีวิตของชาวรุสโบราณในเมืองนอฟโกรอดอีกจำนวนมาก

.

จารึกบนใบเบิชนี้มีเนื้อหาภาษารุสโบราณและภาษาอื่น ๆ ของชนชาติที่เข้ามาทำการค้าขายกับเมืองนอฟโกรอด มีเนื้อหาด้านการค้าขายในท้องถิ่นและกับชาวต่างชาติ ภาพวาดจำลองสิ่งต่าง ๆ เรื่องเล่าในชีวิตประจำวันของชาวเมือง ไปจนถึงแบบเรียน คาดว่ามีอายุระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของเมืองนอฟโกรอด เมืองที่ยังคงดำรงต่อมาได้โดยไม่ถูกชาวมองโกลรุกรานเช่นเดียวกับเมืองรุสโบราณอื่น ๆ

.

จารึกส่วนที่ฮือฮาที่สุดเมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีคือจารึกจำนวนหนึ่งที่เขียนโดยเด็กชายชื่อ “ออนฟิม” (Onfim) ซึ่งเป็นจารึกที่แสดงแบบเรียนภาษารุสโบราณ อิทธิพลทางศาสนาคริสต์ออร์ทอดอกซ์ในสังคม รวมถึงภาพวาดเล่นจำนวนหนึ่ง รวมจารึกทั้งหมด ๑๒ ชิ้น (จารึกหมายเลข ๑๙๙-๒๑๐ และ ๓๓๑) จารึกเกือบทั้งหมด (ยกเว้นชิ้นที่ ๓๓๑) ถูกค้นพบพร้อมกันเป็นก้อนเดียวระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีที่เขตเนเรฟสกี้ เขตที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองนอฟโกรอดในปี ค.ศ. ๑๙๕๖

.

จารึกของออนฟิมแสดงให้เห็นเสี้ยวชีวิตของเด็กคนหนึ่งในเมืองนอฟโกรอด อายุของจารึกใบเบิชทั้งหมดสันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ออนฟิมได้วาดภาพตัวเองไว้หลายภาพ เช่น ในจารึกชิ้นที่ ๒๐๓ ได้วาดภาพคนและสัตว์พร้อมกับจารึกว่า гипомозирабусвоѥмуонѳиму: (ภาษารัสเซียปัจจุบัน Г(оспод)и помози рабу своему Онфиму) แปลว่า “พระเจ้า โปรดเมตตาออนฟิม ทาสของพระองค์ด้วย” จารึกนี้พร้อมกับจารึกอื่น ๆ ที่มีการยกเนื้อความจากหนังสือเพลงสดุดี (Book of Psalms) แต่ไม่จบมาไว้ในแผ่นใบเบิชน่าจะแสดงให้เห็นว่าศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ที่เมืองนอฟโกรอดและอาณาจักรรุสโบราณรับเข้ามานั้นมีอิทธิพลต่อการศึกษาและชีวิตประจำวัน แต่ไม่เพียงแค่เรื่องศาสนา ออนฟิมยังเขียนเรื่องตัวเองและคนอื่นด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของเด็กในยุคหนึ่ง และปฏิสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อน เช่น จารึกชิ้นที่ ๒๑๐ ที่วาดภาพคนและมีชื่อคนว่า (п)авле ซึ่งชื่อรัสเซียปัจจุบันคือปาเวล ภาพวาดคนขี่ม้าแล้วผูกเชือกลากคอคนอีกคนพร้อมกับเขียนชื่อตัวเองว่าออนฟิมในจารึกชิ้นที่ ๒๐๐ เป็นต้น

.

ทว่าจารึกได้แสดงให้เห็นมากกว่าเพียงอิทธิพลของศาสนาในสังคมและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แต่ยังรวมถึงระบบการศึกษาที่มีการวางไว้อย่างเป็นระเบียบ รวมถึงนิสัยของเด็กที่มีความคิดความใฝ่ฝันของตนอย่างเป็นอิสระ ตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นได้แก่ จารึกชิ้นที่ ๑๙๙ มีสองด้าน ด้านหน้าเป็นแบบหัดอ่านภาษารัสเซียซึ่งเรียกตามลำดับอักษรคิริลลิกในระบบเดียวกับที่เรียนปัจจุบัน (А, Б, В, Г, Д, …) จากนั้นเป็นการประสมอักษร (БА, ВА, ГА, ДА, …) ไปเรื่อย ๆ ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรูปสัตว์สี่ขา มีหัว มีแขน (หรืออาจเป็นอาวุธ) มีหาง มีข้อความด้านบนว่า поклоноѿонѳимакоданилѣ (Поклон от Онфима ко Даниле) ซึ่งแปลว่า “ทักทายจากออนฟิมถึงดานิลา” และข้อความใหญ่ด้านใต้ว่า ѧзвѣре (Я зверь) แปลว่า “ข้าคือสัตว์ร้าย” รายละเอียดจารึกฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงทั้งการศึกษาที่เป็นระบบในสังคมนอฟโกรอดยุคกลาง การอ่านออกเขียนได้ที่ยังไม่มีการเว้นวรรคหรือย่อหน้า รวมถึงตัวอย่างการสื่อสารของคนในสังคมกลุ่มหนึ่งในวัยหนึ่งที่บังเอิญว่ามีการค้นพบเมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดี

.

เมืองนอฟโกรอดหรือปัจจุบันคือเวลิกีนอฟโกรอดมีความต่างจากเมืองหลวงของชาวรุสอื่น ๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นไปใหญ่โตมหาศาล นอฟโกรอดรอดพ้นทั้งจากการรุกรานของมองโกลและมีอำนาจเป็นเอกเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๔ ก่อนที่จะสิ้นสุดความสำคัญลงเมื่อกองทัพชาวรุสจากอาณาจักรมอสควาเข้ายึดเมืองในปี ค.ศ. ๑๔๗๘ จากนั้นด้วยสภาพที่ตั้งที่อยู่ระหว่างสวีเดนและอาณาจักรมอสควาที่เริ่มแข็งแกร่งกว่าชาวรุสกลุ่มอื่น ๆ ทำให้เมืองถูกชิงไปมาเป็นประจำ เมื่อพระเจ้าปีเตอร์มหาราช จักรพรรดิรัสเซียตั้งเมืองหลวงใหม่อย่างเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในบริเวณที่ห่างจากนอฟโกรอดไปเพียงไม่ไกลนักก็ทำให้เมืองนอฟโกรอดถูกมองข้ามอย่างต่อเนื่อง เมืองนอฟโกรอดปัจจุบันถือว่าเป็นเมืองไม่ใหญ่มากด้วยประชากรเพียงสองแสนคน และยังคงมีร่องรอยโบราณสถานสมัยอาณาจักรรุสโบราณที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันมากมาย เมืองที่ครั้งหนึ่งมีคนจำนวนมากเดินขวักไขว่ รวมถึงเด็กชายออนฟิมที่บังเอิญทำจารึกจากใบเบิชตกหายให้เราได้ตื่นเต้นกันทุกวันนี้ด้วย

.

แหล่งข้อมูล

Арциховский, А.В., Борковский, В.И.. Новгородские грамоты на бересте (из раскопок 1956–1957 гг.). М.: Из-во Акад. Наук СССР, 1963.

Зализняк, А.А. Древненовгородский диалект. М.: Языки славянской культуры, 2004.

Зализняк, А.А. Новгородская Русь по берестяным грамотам: взгляд из 2012 г. [Электронный ресурс] // Лекции Полит.ру. URL: https://polit.ru/article/2012/10/04/zaliznyak/ Доступен: 01.01.2023.


DON'T MISS THE FUN.

Thanks for submitting!

FOLLOW ME ELSEWHERE

  • Facebook
  • Instagram

SHOP MY LOOK

No tags yet.

POST ARCHIVE

bottom of page